วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กระบวนการย่อยอาหารของมนุษย์

กระบวนการย่อยอาหารของมนุษย์


       
         อหารที่สิ่งมีชีวิตบริโภคเข้าไป  ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม จะนำเข้าสู่เซลล์ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในรูปของสารอาหารที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก คือ 
         - กรดอะมิโน  
         - น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 
         - กลีเซอรอล และกรดไขมัน  
        
        นั่นก็คือ  อาหาร โมเลกุลใหญ่ที่สิ่งมีชีวิตรับประทานเข้าไป  จำเป็นต้องแปรสภาพให้มีขนาดเล็กลง  การแปรสภาพของอาหารดังกล่าวเกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่อาศัยการทำงานของเอนไซม์ย่อยอาหาร โดยทั่วไปเรียกว่า  น้ำย่อย จากนั้นโมเลกุลของสารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ กระบวนการแปรสภาพอาหารที่มีโมเลกุลใหญ่ให้มีโมเลกุลเล็กลง เรียกว่า  การย่อยอาหาร (Digestion)

ระบบย่อยอาหาร (Digestive System) 





(http://arkungning.blogspot.com/2014/01/digestive-system.html)



              ระบบย่อยอาหารมีหน้าที่ย่อยอาหารให้ละเอียด  แล้วดูดซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
             
              การย่อยอาหาร (Digestion)  หมายถึง  กระบวนการสลายอนุภาคอาหารให้มีขนาดเล็กสุด จนสามารถดูดซึมเข้าไปในเซลล์ได้เมื่อมนุษย์รับประทานอาหารเข้าสู่ร่างกาย จะผ่านระบบต่าง ๆ ดังนี้

              1. ปาก
              2. หลอดอาหาร
              3. กระเพาะอาหาร
              4. ลำไส้เล็ก
              5. ลำไส้ใหญ่
              6. ของเสียออกทางทวารหนัก




ขั้นตอนการย่อยอาหาร
การย่อยอาหารมี 2 ขั้นตอน
   
      1. การย่อยเชิงกล (Mechanical  digestion) เป็นกระบวนการทำให้อาหารมีขนาดเล็กลง เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนที่และการเกิดปฏิกิริยาเคมีต่อไป โดยการบดเคี้ยว รวมทั้งการบีบตัวของทางเดินอาหาร ยังไม่สามารถทำให้อาหารมีขนาดเล็กสุด  จึงไม่สามารถดูดซึมเข้าเซลล์ได้

      2. การย่อยทางเคมี (Chemical  digestion)  เป็นการย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กที่สุด  โดยการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่าง อาหาร กับ น้ำ โดยตรง และจะใช้เอนไซม์หรือน้ำย่อยเข้าเร่งปฏิกิริยา

      ผลจากการย่อยทางเคมีเมื่อถึงจุดสุดท้าย จะได้สารโมเลกุลเล็กที่สุดที่สามารถดูดซึมเข้าสู่เซลล์ได้  ซึ่งอาหารที่ต้องมีการย่อย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ส่วนเกลือแร่ และวิตามินจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง





อวัยวะที่ช่วยย่อยอาหาร

     1. ต่อมน้ำลาย (Salivary  Gland)  ผลิตน้ำย่อยอะไมเลส (Amylase) หรือไทยาลิน (Ptyalin) ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลมอลโทส


        
          
            2. กระเพาะอาหาร (Stomach) ผลิตน้ำย่อยเพปซิน ย่อยโปรตีนให้เป็นโปรตีนสายสั้น (เพปไทด์) และน้ำย่อยเรนนิน ย่อยโปรตีนในนมให้เป็นโปรตีนที่มีลักษณะเป็นลิ่มๆ 

                                  (https://kr.123rf.com/photo)

        3. ลำไส้เล็ก (Small  Intestine)  ผลิตน้ำย่อยมอลเทส ย่อยน้ำตาลมอลโทสให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส น้ำย่อยซูเครส ย่อยน้ำตาลซูโครสให้เป็นน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลฟรักโทส น้ำย่อยแลกเทส ย่อยน้ำตาลแลกโทสให้เป็นน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลกาแลกโตส น้ำย่อยอะมิโนเพปทิเดส  ย่อยโปรตีนสายสั้นให้เป็นกรดอะมิโน


(https://socratic.org/questions/what-are-dimensions-of-the-small-intestine-what-are-reasons-to-explain-why-the-s)

          4. ตับ  (Liver)   ผลิตน้ำดี ย่อยไขมันให้เป็นไขมันแตกตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ


 (https://share.upmc.com/2015/09/what-does-the-liver-do-for-the-body/)


             5. ตับอ่อน (Pancreas) ผลิตน้ำย่อยลิเพส  ย่อยไขมันแตกตัวให้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล น้ำย่อยทริปซิน ย่อยโปรตีนให้เป็นพอลิเพปไทด์และไดเพปไทด์ น้ำย่อยคาร์บอกซิเพปพิเดส ย่อยเพปไทด์ให้เป็ฯกรดอะมิโน น้ำย่อยอะไมเลส ย่อยเช่นเดียวกับน้ำย่อยอะไมเลสในปาก

(https://sciencetranslationblog.wordpress.com/2015/11/26/how-to-make-non-insulin-pancreatic-cells-pump-out-insulin-use-a-protein-from-bone/adam-pancrease/)

 ต่อมน้ำลาย

          ต่อมน้ำลาย (Silvary Gland) เป็นต่อมมีท่อ  ทำหน้าที่ผลิตน้ำลาย (Saliva) ต่อมน้ำลายของคนมีอยู่ 3 คู่ คือ  
                    1.  ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual  Gland) 1 คู่    2.  ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรล่าง (Submandibulary Gland) 1 คู่    3.  ต่อมน้ำลายข้างกกหู (Parotid Gland)  1 คู่



            ต่อมน้ำลายทั้ง 3 คู่นี้ ทำหน้าที่สร้างน้ำลายที่มีเอนไซม์อะไมเลส  ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยสารอาหารจำพวกแป้งเท่านั้น

ความสำคัญของน้ำลาย

     1. เป็นตัวหล่อลื่น และทำให้อาหารรวมกันเป็นก้อน เรียกว่า โบลัส (Bolus)
     2. ช่วยทำความสะอาดปากและฟัน
     3. มีเอนไซม์ช่วยย่อยแป้ง
     4. ช่วยทำให้ปุ่มรับรสตอบสนองต่อรสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว และรสขมได้ดี

การย่อยในปาก

         เริ่มต้นจากการเคี้ยวอาหารโดยการทำงานร่วมกันของ ฟัน ลิ้น และแก้ม ซึ่งถือเป็นการย่อยเชิงกล ทำให้อาหารกลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ  มีพื้นที่ผิวสัมผัสกับเอนไซม์ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันต่อมน้ำลายก็จะหลั่งน้ำลายออกมาช่วยคลุกเคล้าให้อาหารเป็นก้อนลื่นสะดวกต่อการกลืน  

           เอนไซม์ในน้ำลาย คือ ไทยาลิน หรืออะไมเลสจะย่อยแป้งในระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่อยู่ในช่องปากให้กลายเป็นเดกซ์ทริน (Dextrin) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กกว่าแป้ง แต่ใหญ่กว่าน้ำตาล  และถูกย่อยต่อไปจนเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่   คือ มอลโตส



(https://555a45cc-a-62cb3a1a-s-sites.googlegroups.com/site/sciencekanyanat/digestive-system-1/aa.jpg)



กระเพาะอาหาร


           ประกอบขึ้นด้วยกล้ามเนื้อเรียบที่อัดกันหนามาก  ด้านในมีลักษณะเป็นสันช่วยในการบดอาหารให้มีขนาดเล็กลงอีก  ผนังด้านในสามารถสร้างเอนไซม์เพปซิโนเจน (Pepsinogen) และกรดไฮโดรคลอริกหรือกรดเกลือ (HCI) 
           เพปซิโนเจนจะถูกกรดเกลือเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นเอนไซม์เพปซิน (Pepsin) ซึ่งมีความสามารถในการย่อยโปรตีนให้มีโมเลกุลเล็กลง เรียก่า เพปไทด์ (Peptide)  แต่ยังไม่สามารถดูดซึมได้


(https://biochemistryofdigestivesystem.wordpress.com/what-are-the-roles-of-the-chemicals-in-our-stomach/)

การย่อยในกระเพาะอาหาร

        อาหารจะถูกคลุกเคล้าอยู่ในกระเพาะด้วยการหดตัว  และคลายตัวของกล้ามเนื้อที่แข็งแรงของกระเพาะ 
       โปรตีนจะถูกย่อยในกระเพาะ โดยน้ำย่อยเพปซิน  ซึ่งย่อยพันธะบางชนิดของเพปไทด์เท่านั้น ดังนั้นโปรตีนที่ถูกเพปซินย่อยส่วนใหญ่จึงเป็นพอลิเพปไทด์ที่สั้นลง  
       ส่วนเรนนินช่วยเปลี่ยนเคซีน (Casein) ซึ่งเป็นโปรตีนในน้ำนมแล้ว  รวมกับแคลเซียมทำให้มีลักษณะเป็นลิ่ม ๆ จากนั้นจะถูกเพปซินย่อยต่อไป       ในกระเพาะอาหาร น้ำย่อยลิเพสไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากมีสภาพเป็นกรด  
       โดยปกติอาหารจะอยู่ในกระเพาะอาหารนาน 30 นาทีถึง 3 ชั่วโมง  ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารนั้น ๆ 
       กระเพาะอาหารก็มีการดูดซึมอาหารบางชนิดได้ แต่ปริมาณน้อยมาก เช่น น้ำ แร่ธาตุ  น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว กระเพาะอาหารดูดซึมแอลกอฮอล์ได้ดี   
       อาหารโปรตีน เช่น เนื้อวัว ย่อยยากกว่าเนื้อปลา ในการปรุงอาหารเพื่อให้ย่อยง่าย อาจใช้การหมักหรือใส่สารบางอย่างลงไปในเนื้อสัตว์เหล่านั้น เช่น ยางมะละกอ หรือสับปะรด




ลำไส้เล็ก

          ลำไส้เล็กเป็นทางเดินอาหารส่วนที่ยาวมาก แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ดูโอดีนัม  เจจูนัม และไอเลียม  
         ที่ผนังลำไส้เล็กสามารถสร้างน้ำย่อยขึ้นมาได้ ซึ่งมีหลายชนิด นอกจากนั้นที่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม ยังได้รับน้ำย่อยจากตับอ่อน  และน้ำดีมาจากตับ น้ำย่อยจากตับอ่อนมีหลายชนิดที่สามารถย่อยคาร์โบไฮเดรต  โปรตีนและไขมันได้

การย่อยอาหารในลำไส้เล็ก

    1.ย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ดังนี้ 

    -  มอลโทส  โดยเอนไซม์มอลเทส   ได้กลูโคส  2 โมเลกุล 
    -  ซูโครส โดยเอนไซม์ซูเครส  ได้กลูโคส  และฟรักโทส 
    -  แลกโทส โดยเอนไซม์แลกเทส ได้กลูโคส และกาแลกโทส 

    2.   ย่อยสารอาหารโปรตีนต่อจากกระเพาะอาหาร ได้แก่ เพปไทด์โดยเอนไซม์ทริปซินได้กรดอะมิโน ซึ่งเป็นโปรตีนโมเลกุลเดี่ยว
 
    3. ย่อยไขมัน โดยเอนไซม์ ลิเพส จะย่อยไขมันโมเลกุลเล็ก 
(emulsified fat) ให้เป็นไขมันโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่  กรดไขมันและกลีเซอรอล

การดูดซึมอาหารในลำไส้เล็ก

          การดูดซึมอาหาร หมายถึง ขบวนการที่นำอาหารที่ผ่านการย่อยจนได้เป็นสารโมเลกุลเดี่ยว เช่น กลูโคส กรดอะมิโน กรดไขมัน  กลีเซอรอล  ผ่านผนังทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  

          ลำไส้เล็ก  เป็นบริเวณที่ดูดซึมอาหารเกือบทั้งหมดเพราะเป็นบริเวณที่มีการย่อยอาหารเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์  และโครงสร้างภายในลำไส้เล็กก็เหมาะแก่การดูดซึม คือ ผนังลำไส้เล็กจะยาวพับไปมา  และมีส่วนยื่นของกลุ่มของเซลล์ที่เรียงตัวเป็นแถวเดียวมีลักษณะคล้ายนิ้วมือ  เรียกว่า วิลลัส (Villus)  เป็นจำนวนมาก  ในแต่ละเซลล์ของวิลลัสยังมีส่วนยื่นของเยื่อหุ้มเซลล์ออกไปอีกมากมาย เรียกว่า ไมโครวิลลัส (Microvillus) ในคน  มีวิลลัสประมาณ 20-40 อันต่อพื้นที่ 1 ตารางมิลลิเมตรหรือประมาณ 5 ล้านอัน  ตลอดผนังลำไส้ทั้งหมด


การดูดซึมในลำไส้ใหญ่

          การดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ผนังลำไส้เล็ก ส่วนอาหารที่ไม่ถูกย่อยหรือย่อยไม่ได้ เช่น เซลลูโลส  ก็จะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่  ส่วนต้นของลำไส้ใหญ่มีไส้เล็ก ๆ ปลายตัน  เรียกว่า  ไส้ติ่ง  ไส้ติ่งของคนไม่ได้ทำหน้าที่อะไรแต่ก็อาจเกิดการอักเสบถึงกับต้องผ่าตัดไส้ติ่งออกไป   ซึ่งอาจเกิดจากการอาหารผ่านช่องเปิดลงไป หรือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไส้ติ่งเกิดการอุดตัน 

          อาหารที่เหลือจากการย่อยและดูดซึมแล้วจะผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่มีแบคทีเรียอยู่จำนวนมาก ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากกากอาหารนี้ นอกจากนั้นแบคเทีเรียบางชนิดยังสังเคราะห์ วิตามินบางชนิด  เช่น วิตามินเค  วิตามินบี 12  

         เซลล์ที่บุผนังลำไส้ใหญ่ สามารถดูดน้ำ แร่ธาตุ วิตามิน และกลูโคสจากกากอาหารเข้ากระแสเลือด  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ จึงทำให้กากอาหารข้นขึ้น  จนเป็นก้อนกากอาหารจะผ่านไปถึงไส้ตรง

         ท้ายสุดของไส้ตรงเป็นกล้ามเนื้อหูรูดแข็งแรงมาก มีลักษณะเป็นวงรอบปากทวารหนักทำหน้าที่บีบตัวในการขับถ่าย และผนังภายในลำไส้ใหญ่จะขับเมือกออกมาหล่อลื่นก้อนอาหาร



น้ำดี  (Bile)  
   
           น้ำดีสร้างจากตับ (Liver)  แล้วถูกนำไปเก็บไว้ที่ ถุงน้ำดี (Gall  Bladder) ไม่ถือว่าเป็นเอนไซม์  เพราะจะเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม  เมื่อปฏิกิริยาสิ้นสุดลงแล้ว (น้ำดีไม่มีน้ำย่อย)  มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ

         1. เกลือน้ำดี  (Bile  Salt)  มีหน้าที่ตีให้ไขมัน (Fat)  แตกตัวเป็นหยดเล็ก ๆ ไขมันที่ถูกตีให้แตกตัวเป็นหยดเล็ก ๆ เรียกว่า อีมัลชั่น (Emulsion)  จากนั้นถูก  Lipase ย่อยต่อให้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล
         2. รงควัตถุน้ำดี (Bile  Pigment) เกิดจากการสลายตัวของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) โดยตับเป็นแหล่งทำลายและกำจัด Hemoglobin ออกจากเซลล์  เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ  โดยเก็บรวบรวมเข้าไว้เป็นรงควัตถุในน้ำดี (Bile  Pigment) คือ บิริรูบิน (Bilirubin)  จึงทำให้น้ำดีมีสีเหลืองหรือเขียวอ่อน  และจะถูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมน้ำตาลโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่เกิดเป็นใสในอุจจาระ
    
          3. โคเรสเตอรอล (Cholesterol)  ถ้ามีมาก ๆ จะทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี เกิดการอุดตันที่ท่อน้ำดี  เกิดโรคดีซ่าน (Janudice)  มีผลทำให้การย่อยอาหารประเภทไขมันบกพร่อง




           เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เนื้อหาในเรื่องนี้ค่อนข้างยากและซับซ้อนนะคะ แต่ครูเชื่อว่าไม่เกินความสามารถของเด็กๆ ค่ะ สู้ต่อไปนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ




วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การย่อยอาหารของสัตว์ที่มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์

การย่อยอาหารของสัตว์ที่มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์

      สัตว์ที่มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete Digestive Tract) คือมีปากและทวารหนักร่วมกัน ได้แก่ ไฮดรา และพลานาเรีย

    ไฮดรา (Hydra) 




          ไฮดรามีเข็มพิษ (Nematocyst) อยู่บริเวณหนวด (Tentacle) ซึ่งจะปล่อยพิษออกมาทำร้ายเหยื่อในน้ำ แล้วจับเหยื่อส่งเข้าสู่ปากผ่านเข้าสู่ช่องกลางลำตัว (Gastrovascular Cavity) ที่ผนังลำตัวจะมีเซลล์แกสโทรเดอร์มิส (Gastrodermis) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิด คือ

   1.เซลล์ต่อม (Gland Cell) เป็นเซลล์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยส่งอกไปย่อยอาหารที่อยู่ใน Gastrovascular Cavity ซึ่งเป็นการย่อยภายนอกเซลล์ (Extracellular Digestion) กากอาหารจะถูกขับถ่ายออกทางช่องปาก


   2.เซลล์ย่อยอาหาร (Digestive or Nutritive Cell) เป็นเซลล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า Gland Cell ส่วนปลายมีแฟลเจลลัมทำหน้าที่จับอาหารที่มีขนาดเล็กเข้าสู่เซลล์ สามารถสร้าง Food Vacuole ได้แบบเดียวกับอะมีบา เกิดการย่อยภายในเซลล์ (Intracellular Digestion)                     
           

(https://socratic.org/questions/why-is-digestion-in-hydras-considered-extracellular)

 พลานาเรีย (Planaria) 



  (https://study.com/academy/lesson/experiments-with-planaria.html)

        โครงสร้างที่เกี่ยวกับการกินและการย่อยอาหารของพลานาเรียสูงกว่าไฮดราเล็กน้อย เริ่มต้นจากช่องปาก ซึ่งเป็นช่องเปิดรับอาหารและขับถ่ายกากอาหาร ต่อจากปากเป็นคอหอย (Pharynx) ซึ่งมีลักษณะคล้ายวงยาว มีเซลล์กล้ามเนื้อแข็งแรงยืดตัวและหดตัวได้ สามารถยื่นออกมาจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและอินทรียสารเป็นอาหารได้         
        เมื่ออาหารผ่านเข้าสู่ปากจะเข้าสู่ทางเดินอาหารที่มีแขนงแยกออกไปสองข้างของลำตัวและแตกแขนงไปทั่วร่างกาย ทำหน้าที่ย่อยอาหารโดยเฉพาะ อาหารที่ย่อยแล้วจะถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่เซลล์ไปทั่วร่างกาย

(http://ohapbio12.pbworks.com/w/page/52113412/Planarian)

       เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอจะเห็นความแตกต่างระหว่างการย่อยอาหารของพลานาเรียกับไฮดรากันแล้วใช่ไหมคะ สู้ๆ นะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

กระบวนการย่อยอาหารของสัตว์ที่ไม่มีทางเดินอาหาร

กระบวนการย่อยอาหารของสัตว์ที่ไม่มีทางเดินอาหาร

ฟองน้ำ (Sponge) 



                            (https://phylumporiferasponges.weebly.com/types-of-organisms.html)

         ฟองน้ำจัดเป็นสัตว์กลุ่มแรก ซึ่งโครงสร้างที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกินและแปรสภาพอาหารยังไม่พัฒนาให้เห็นชัดเจนเหมือนสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ การกินและการย่อยอาหารจึงต้องอาศัยเซลล์ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ


          1.คอลลาร์เซลล์ (Collar Cell) คือ โคแอนโนไซต์ (Choanocyte) เป็นเซลล์ขนาดเล็กคล้ายปลอกคอ มีแฟลเจลลัม (Flagellum) 1 เส้น ยื่นออกมาจากคอลลาร์เซลล์


           2. อะมิโบไซต์ (Amoebocyte) เป็นเซลล์ขนาดใหญ่กว่าคอลลาร์เซลล์ พบทั่วไปบริเวณผนังลำตัวของฟองน้ำ อาหารจำพวกแบคทีเรียและอินทรียสารขนาดเล็กไม่เกิน 1 ไมครอนที่ปะปนอยู่ในน้ำ จะถูกแฟลเจลลัมของคอลลาร์เซลล์จับเป็นอาหาร แล้วส่วนของไซโทพลาซึมจะรับอาหารเข้าสู่เซลล์แบบฟาโกไซโทซิส สร้างเป็น Food Vacuole แล้วอาหารจะถูกย่อยโดยเอนไซม์จากไลโซโซม


          ส่วนอาหารขนาดใหญ่ประมาณ 5-50 ไมครอน อะมิโบไซต์ (Amoebocyte) สามารถจับแล้วสร้าง Food Vacuole และจะถูกย่อยโดยเอนไซม์จากไลโซโซมเช่นเดียวกัน

                                         (https://public.wsu.edu/~rlee/biol103/animaldiversity/sld009.htm)


  เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับตัวอย่างกระบวนการย่อยอาหารของสัตว์ที่ไม่มีทางเดินอาหาร หวังว่าจะได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นนะคะ สู้ๆ ต่อไป เป็นกำลังใจให้ค่ะ