วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โครงสร้างและหน้าที่ของราก ตอนที่ 2


สวัสดีค่ะ ครั้งที่แล้วเราเรียนรู้กันไปแล้วนะคะเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของราก อ้อ! เกือบลืม เฉลยค่ะ

แบบทดสอบความเข้าใจ

 1.  บริเวณใดของรากที่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไป 
      ตอบ  บริเวณหมวกราก (ROOT CAP)
2.   บริเวณใดของรากที่เซลล์มีขนาดเล็ก ผนังเซลล์บาง ทำหน้าที่แบ่งเซลล์อยู่ตลอดเวลา   
     ตอบ  บริเวณเซลล์แบ่งตัว (zone of cell division หรือ region of cell division)
3.  บริเวณใดที่ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่เจริญมาจากบริเวณที่เซลล์มีการแบ่งตัว 
     ตอบ  บริเวณเซลล์ยืดตัว (zone of cell elongation หรือ region of cell elongation)
4.  บริเวณใดของรากที่เนื้อเยื่อบริเวณนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ขนราก
     ตอบ บริเวณเซลล์เจริญเติบโตเต็มที่ และบริเวณเซลล์ขนราก (zone of cell maturation หรือ region of cell maturation and root hair cell)
 
  ขอปรบมือให้กับคนเก่งอีกครั้งนึงนะคะ เยี่ยมมากค่ะ ถูกทุกข้อเลย
 หลังจากชื่นชมความเก่งกันไปแล้ว  วันนี้เราจะมาต่อกันด้วยเรื่องของเนื้อเยื่อชั้นต่างๆ ของรากพืชใบเลี้ยงคู่และรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยว กันค่ะ เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ


บริเวณเซลล์เจริญเติบโตเต็มที่ของรากพืชใบเลี้ยงคู่ และรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตัดตามขวางจะประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้นต่างๆ เรียงจากภายนอกเข้าไปภายใน ดังนี้

1. เอพิเดอร์มิส (epidermis) ประกอบด้วยเซลล์เรียงตัวกันหนาเพียงชั้นเดียว ผนังเซลล์บาง ไม่มีคลอโรพลาสต์ บางเซลล์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ขนราก (root hair cell)


2. คอร์เทกซ์ (cortex) คอร์เทกซ์ในรากจะกว้างกว่าในลำต้น ประกอบด้วยเซลล์เรียงตัวกันหลายแถว ส่วนใหญ่เป็นเนื้อเยื่อพาเรงคิมา ซึ่งทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหาร ชั้นในสุดเป็นเซลล์เรียงตัวกันแถวเดียว เรียก เอนโดเดอร์มิส (endodermis)


3. สตีล (stele) เป็นบริเวณที่อยู่ถัดจากชั้นเอนโดเดอร์มิสเข้าไป ประกอบด้วยชั้นต่าง ๆ ดังนี้

3.1 เพริไซเคิล (pericycle) เป็นเซลล์ผนังบางมี 1-2 แถว พบเฉพาะใน รากเท่านั้น  เป็นแหล่งกำเนิดของรากแขนง (secondary root)

3.2 มัดท่อลำเลียง (vascular bundle) ในพืชใบเลี้ยงคู่จะมีไซเล็ม (xylem) อยู่ตรงกลางเรียงเป็นแฉก 1-6 แฉก โดยมากมี 4 แฉก โฟลเอ็ม (phloem) อยู่ระหว่างแฉก มีเนื้อเยื่อแคมเบียม (cambium) คั่น  ส่วนรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีจำนวนแฉกมากกว่า และไม่มีแคมเบียมคั่นระหว่างไซเล็มและโฟลเอ็ม                                                                                                                                                                                                

3.3 ไส้ไม้ (pith) เป็นบริเวณตรงกลางของราก ประกอบด้วยเนื้อเยื่อพาเรงคิมา ทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหาร ในรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจะเห็นได้ชัดเจน ส่วนในรากพืชใบเลี้ยงคู่ ตรงกลางมักเป็นไซเล็ม

 
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เรารู้จักบริเวณต่างๆ ของรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและรากพืชใบเลี้ยงคู่กันไปแล้วนะคะ ต่อไปเราก็มาทบสอบความรู้ความเข้าใจกันด้วยคำถามต่อไปนี้ค่ะ 

แบบทดสอบความเข้าใจ

1.  เซลล์ขนรากเปลี่ยนแปลงมาจากเนื้อเยื่อใด
      ตอบ 
2.   เอนโดเดอร์มิสพบในเนื้อเยื่อใด
     ตอบ  
3.  จากการศึกษาโครงสร้างภายในของพืชพบว่า a มีคอร์เทกซ์กว้างกว่า b อยากทราบว่า a เป็นส่วนใดของพืช
     ตอบ  
4.  เนื้อเยื่อใดของรากที่ทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหาร
            ตอบ
5.  เนื้อเยื่อใดเป็นแหล่งกำเนิดของรากแขนง
     ตอบ  
6.  พืชชนิดใดไม่มีแคมเบียมคั่นระหว่างไซเล็มและโฟลเอ็ม
            ตอบ
7.  จากการศึกษาโครงสร้างภายในของรากพืชพบว่า a มีจำนวนแฉกของไซเล็ม
มากกว่า b อยากทราบว่า a เป็นพืชชนิดใด
            ตอบ  

ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ แล้วเรามาตรวจสอบความถูกต้องกันในตอนต่อไปนะคะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น